รากฐานแห่งความสำเร็จสามองค์ประกอบ

โจทย์ที่ท้าทายของผู้ก่อตั้ง

Oyster Perpetual ได้ผสานองค์ประกอบหลักแห่งความสำเร็จในการผลิตนาฬิกาของ Rolex สามประการไว้ด้วยกัน จึงเป็นตัวแทนจิตวิญญาณการคิดริเริ่มของ Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้งอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี 1930 คุณสมบัติในด้านการปรับตั้งความเที่ยงตรงแบบโครโนเมตริก คุณสมบัติกันน้ำ และกลไกการขึ้นลานอัตโนมัติ ทำให้เรือนเวลานี้กลายเป็นต้นแบบของนาฬิการุ่น Oyster Perpetual

ผมเชื่อว่าความสำเร็จในชีวิตของผมนั้นโคจรอยู่รอบๆ ความเที่ยงตรง

Hans Wilsdorf ปี 1956
Hans Wilsdorf

ความเที่ยงตรงที่สม่ำเสมอ

ความเที่ยงตรงของนาฬิกานับเป็นความท้าทายด่านแรก ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลายคนมีข้อกังขาว่านาฬิกาข้อมือจะสามารถคงความแม่นยำได้อย่างแท้จริงหรือไม่ แต่ Hans Wilsdorf มีความเชื่อมั่นที่เต็มเปี่ยม ในปี 1910 ณ เมือง Bienne นาฬิกา Rolex เป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกที่ได้รับใบรับรองความเที่ยงตรงของนาฬิกาจากสวิส ต่อมาในปี 1914 ผู้ก่อตั้ง Rolex ได้ทำให้วงการผู้ผลิตนาฬิกาต้องตื่นตะลึงเมื่อได้รับใบรับรองจาก Kew Observatory ในประเทศอังกฤษ นับเป็นครั้งแรก ที่นาฬิกาข้อมือได้รับใบรับรองเดียวกับโครโนมิเตอร์สำหรับการเดินเรือขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นนาฬิกาที่มีความแม่นยำที่สุดในยุคนั้น สัญชาตญาณของ Hans Wilsdorf ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง

Oyster Perpetual ปี 1926

Oyster เป็นผลงานประดิษฐ์นาฬิกาที่สำคัญที่สุดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

Hans Wilsdorf ปี 1927
การกันน้ำ

คุณสมบัติกันน้ำที่ผ่านการพิสูจน์

ในปี 1927 Rolex ได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์บทใหม่พร้อมกับ Mercedes Gleitze หลังการสร้างสรรค์ Oyster หนึ่งปี ​Hans Wilsdorf ได้มอบเรือนเวลาชิ้นนี้ให้กับหญิงสาวชาวอังกฤษเพื่อใช้ว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษ หลังจากอยู่ในน้ำที่เย็นจัดนานกว่า 10 ชั่วโมง นาฬิกายังคงสมรรถนะการทำงานอย่างไร้ที่ติ ตั้งแต่นั้นมา Rolex ไม่เคยหยุดจินตนาการ และมองโลกเป็นห้องทดลองที่มีชีวิต พร้อมได้มอบนาฬิกาให้นักกีฬา นักสำรวจ นักบิน นักแล่นเรือ และนักเดินทางท่องโลกจำนวนมากมาย ซึ่งได้ร่วมเป็นสักขีพยานถึงประสิทธิภาพของนาฬิการุ่นนี้ในการใช้งานจริง ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมแบบสุดขั้วที่สุด เรือนเวลานี้สะท้อนแนวคิดของ Hans Wilsdorf ในการพิสูจน์แนวคิดด้วยการทดลองจริง อันนำไปสู่การรับรองคุณภาพของนาฬิกา Rolex ทั่วโลก

ตอบรับทุกจังหวะแห่งการเคลื่อนไหว

Oyster éclaté
สืบสานตำนาน

ปรับตามทุกจังหวะการเคลื่อนไหว

ในปี 1931 หลังการวิจัยและพัฒนาหลายปี Rolex ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรหลายรายการให้กับกลไกการขึ้นลานอัตโนมัติที่ใช้โรเตอร์แบบหมุนรอบทิศทางที่เรียกว่าโรเตอร์ Perpetual นวัตกรรมครั้งสำคัญนี้ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องไขลานนาฬิกาด้วยตัวเอง และลดความจำเป็นในการหมุนเม็ดมะยมได้เป็นอย่างมาก ความยอดเยี่ยมของระบบนี้คือลูกเหวี่ยงจะหมุนทุกครั้งที่ผู้สวมใส่ขยับข้อมือ ทำให้นาฬิกาสามารถขึ้นลานได้เองในขณะสวมใส่ ต่อมาแนวคิดนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานที่ใช้กันเป็นสากลในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาทั่วโลก Oyster Perpetual ที่ปรับตามการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ ในระหว่างการทำกิจกรรมในทุกวัน เป็นเรือนเวลาที่อยู่เคียงข้างท่านในทุกจังหวะสำคัญของชีวิต

1926 Oyster